วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วังสีทา


เมื่อ พูดถึง จังหวัดสระบุรี หลายคนคงจะนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ภูเขา ถ้ำ อุทยานและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ อย่างพระพุทธบาทหรือพระพุทธฉาย

แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ที่สระบุรีมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ ต.สองคอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นั่นก็คือ โบราณสถานวังสีทาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และขณะนี้นักโบราณคดีได้ร่วมกันขุดค้นและขุดแต่งวังที่ประทับแห่งนี้ สุนิสา มั่นคง นักโบราณคดี กลุ่มงานวิชาการโบราณคดีประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดีที่โบราณสถานวังสีทาแห่งนี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 จนถึงเดือนเมษายน 2547 โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากพล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร

ทั้งนี้ ในการขุดค้นพบหลักฐานที่สำคัญแสดงว่า วังสีทามีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ซึ่งครองราชย์สมบัติคู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ได้เสด็จฯ มาประทับอยู่ที่วังสีทาแห่งนี้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพระตำหนักที่ประทับ พระอารามหลวงและทิมดาบ เป็นต้น

ในช่วงสมัยรัชกาลที่4 เรามีเรื่องวุ่นวายกับพวกฝรั่งกงสุลต่างชาติอยู่เสมอๆ เมื่อเกิดมีเรื่องโต้เถียงกันคราวใด ก็มักจะถูกข่มขู่ว่าจะเรียกเรือรบเข้ามาปิดอ่าว ซึ่งระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้มีพระราชดำริว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองราชธานีอยู่ใกล้ทะเล ถ้าเกิดศึกสงครามกับต่างประเทศข้าศึกก็จะนำเรือรบเข้ามาถึงราชธานีได้

จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปตรวจหาจุดยุทธศาสตร์เพื่อยก ฐานะเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ครั้งแรกเลือกเมืองนครราชสีมา แต่เห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะกันดารน้ำที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งการติดต่อไปมากับเมืองหลวงก็ลำบาก ต่อมาจึงได้ให้มาพิจารณาเมืองสระบุรี และก็พบพื้นที่ราบแห่งหนึ่งมีเขาล้อมรอบเป็นบริเวณกว้างเปรียบเสมือนป้อม ปราการธรรมชาติ จึงได้ตัดสินใจสร้างที่ประทับที่วังสีทา เพื่อทรงควบคุมดูแลการก่อสร้างปรับปรุงตกแต่งเขาคอกไว้เป็นป้อมปราการ สำหรับป้องกันข้าศึก
    
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวังสีทาล้วนสร้างด้วยเครื่องไม้เกือบทั้งหมด เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักและพลับพลาที่ประทับต่างๆ ขนเครื่องบนและตัวไม้เกือบทั้งหมด รื้อนำอาอิฐบางส่วนนำเอาลงมาสร้างวังที่กรุงเทพฯ บางส่วนพระราชทานบรรดาพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้าง จากนั้น วังสีทาก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปตามกาลเวลา จนมีผู้คนเข้ามาจับจองทำการเพาะปลูกทางเกษตรกรรมทำให้พื้นที่โดยทั่วไปของ วังสีทาเหลือแต่เพียงสภาพที่เห็นในปัจจุบัน
สุนิสาเล่าต่อว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานทางโบราณคดี ได้มีการแบ่งขั้นตอนกาปฏิบัติงานออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาการทับถมของชั้นดินว่ามีร่องรอยการทำกิจกรรม ของมนุษย์ และร่องรอยการอยู่อาศัยของกลุ่มชนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณนี้ และการขุดแต่งโบราณสถานวังสีทา เพื่อขุดตรวจหาหลักฐาน เช่น แนวฐานอาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ประมาณ 22 ไร่ ของโบราณวังสีทา

จากนั้นโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดตรวจและขุดค้นทุกอย่าง จะนำมาลงบัญชีตามระดับชั้นดิน แล้วบรรจุพร้อมทั้งบันทึกรายละเอียดลงในแบบบันทึก ซึ่งจะบันทึกเกี่ยวกับลักษณะดินทุกชั้นในหลุมขุดตรวจและขุดค้น เช่น สีของดิน องค์ประกอบของดินที่ผิดปกติ ได้แก่ ถ่าน หรือ ร่องรอยของดินที่ถูกเผาไหม้ เป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำชั้นดิน และศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างชั้นดินกับโบราณวัตถุที่พบต่อไป

โบราณวัตถุที่ค้นพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี

ภายหลังการขุดค้นและขุดแต่งเสร็จสิ้นในแต่ละหลุม ได้พบหลักฐานที่เป็นชิ้นส่วนต่างๆ ของโบราณวัตถุประเภทรูปเคารพศาสนา ที่ทำมาจากดินเผา หิน และโลหะ โดยส่วนมากที่พบจะเป็นภาชนะประเภทเครื่องถ้วย หรือกระเบื้องเคลือบ เศษภาชนะที่พบส่วนมากจะเป็นชิ้นส่วนของถ้วย ชาม จาน กระปุก ฯลฯ ซึ่งโบราณวัตถุที่พบดังกล่าวมีสภาพและขนาดต่างๆ แตกต่างกันไปเล็กบ้างใหญ่บ้าง เนื่องจากของที่พบจากการขุดแต่งจะมีสภาพเกือบสมบูรณ์เกือบทุกชิ้น

ส่วนของการเก็บหลักฐานและบันทึกข้อมูลของการขุดแต่ง จะถ่ายภาพบันทึกสภาพปัจจุบันของโบราณสถาน และสภาพบริเวณพื้นที่ดำเนินการทั้งหมดด้วยภาพสีและฟิล์มสไลด์ และทำการสำรวจวางผังครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด พร้อมกำหนดชื่อหลุมขุดแต่งและชื่อโบราณสถานไว้
ข้อมูลเพิ่มเติมจากการขุดค้นทางโบราณคดี


...วันที่ ๑๘ เมษายน (พ.ศ.๒๓๙๘) เวลาค่ำไปเฝ้าวังหน้าที่ข้างใน วังหน้าเป็นคนที่มีปัญญาความคิดฉลาด และเงียบขรึม และอ่อนโยนดี จากปัญญาความคิดที่ฉลาด จึงไม่ค่อยจะทรงเกี่ยวข้อง กับทางราชการ ตั้งแต่ท่าน้ำที่เราเดินขึ้นไปจนถึงพระราชวัง ได้ปูเสื่อลาดตลอดทางห้องที่ประทับดี เหมาะและตกแต่งเข้าทีดี เว้นแต่ที่ชักพัดแขวนสูงเกินไป จนติดเพดานสูงเท่านั้น ถ้าไม่ฉะนั้นแล้ว การที่ใช้เครื่องตกแต่ง เกือบจะทำให้เราเชื่อว่า เข้าไปอยู่ในบ้านผู้ดีฝรั่ง ทรงรับสั่งสนทนาด้วยภาษาอังกฤษได้ดี เป็นที่ไพเราะพอฟังได้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียนเพาะปลูกความรู้ดี และทั้งมีห้องสมุดหนังสืออังกฤษที่เลือกคัดด้วยอย่างดีและมาก ทั้งมีเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ทำเครื่องจักรกล เท่ากับพิพิธภัณฑ์อันหนึ่ง กับตัวอย่างวิชาช่างหลายอย่างที่ได้เจริญดีขึ้นในสมัยปัจจุบัน โดยมีตัวอย่างเรือไฟขนาดย่อมและตัวอย่างเครื่องอาวุธต่างๆ...

(บันทึกของ เซอร์ จอห์น บาวริ่ง ราชทูตอังกฤษ เกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล)

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่รู้จักในนามตำแหน่ง 'วังหน้า' นั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ที่สองของสยามประเทศ เมื่อบรรยากาศการรุกรานอธิปไตยของชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกคืบมาถึง พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่ากรุงรัตนโกสินทร์นั้นตั้ง อยู่ใกล้ทะเล ข้าศึกอาจนำเรือรบบุกเข้าโจมตีได้ง่าย จึงควรสร้างพระราชธานีที่สองไว้รองรับ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชบัญชาให้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภูมิสถานที่ตั้งสำหรับราชธานี ที่สองนี้ที่เมืองนครราชสีมา ทว่าเมืองนครราชสีมานั้นกันดารด้วยแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค กอปรกับการเดินทางไปมาต้องใช้การเดินเท้าผ่านไหล่เขาเป็นหลักจึงไม่เหมาะ สำหรับการตั้งราชธานี ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเห็นควรให้ปักหลักที่บริเวณริมฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก ที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะกลางน้ำ มีพื้นที่ประมาณ 513 ไร่ ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกอยู่ติดกับบึงตลาดไชย มีพื้นที่ประมาณ 212 ไร่ และยังมีเขาคอกเป็นภูเล็กๆ กั้นอยู่อีกฝั่งหนึ่ง โดยบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งตั้งรกรากของชาวครัวลาวอพยพที่ถูกกวาดต้อนมา ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีด้วย พระองค์ทรงสร้างพระตำหนักและพลับพลาต่างๆ ตลอดจนพระอารามหลวงไว้ ต่อมาชาวบ้านขนานนามตามแห่งตำบลว่าพระตำหนักสีทา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จมาประทับที่วังนี้บ่อยครั้ง จวบจนช่วงปลายพระชนม์เมื่อทรงประชวรด้วยโรควัณโรค ครั้นพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักและพลับพลาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยเครื่องไม้ ย้ายมาสร้างวังที่กรุงเทพฯ บางส่วนพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อกาลผ่านพ้น ที่ดินแห่งนี้ได้ถูกขายทอดต่อๆ กันมาให้เอกชนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กลายเป็นพื้นที่รกร้างส่วนหนึ่ง และทำการเพาะปลูกไร่ข้าวโพดส่วนหนึ่ง ในปี พ.ศ.2478 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนวังสีทาเป็นโบราณสถาน ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณหมู่ 8 บ้านสีทา ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ทว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบริษัท แหลมทองมีทแพคเคอร์ จำกัด ล่าสุดชาวจังหวัดสระบุรี นำโดย พลเอก/พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร ดำเนินการจัดหาทุนกว่า 1 ล้านบาท สำหรับการบูรณะวังสีทาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร รับผิดชอบดำเนินการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2546-เมษายน พ.ศ.2547

บัดนี้ ผลการขุดค้นเผยให้เห็นร่องรอยอดีตวังเก่าของเจ้านายแห่งวังหน้าแล้ว

สุนิสา มั่นคง หัวหน้ากลุ่มวิชาการโบราณคดีประวัติศาสตร์ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ผู้ควบคุมงานขุดค้น เปิดเผยว่าได้มีการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพงศาวดารที่ระบุถึงวังสีทานี้เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น ผนวกกับหลักฐานที่ค้นพบจากการขุดค้นเป็นข้อมูลสำคัญ หลังจากสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านให้ชี้ร่องรอยบริเวณพื้นที่รกร้างที่ คาดว่าน่าจะเป็นบริเวณวัง ก็พบว่าริมแม่น้ำป่าสักนั้นปรากฏอิฐ 2 ก้อนโผล่มาให้เสาะหาต่อไป คณะนักโบราณคดีได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินให้สุ่มขุดหลุมตัวอย่างทดสอบ ประมาณ 20 ไร่ พบร่องรอยอิฐฐานอาคารริมแม่น้ำป่าสัก 2 หลัง สันนิษฐานว่าอาจเป็นทิมดาบ หรืออาจเป็นศาลาริมน้ำ ใกล้ๆ กันมีร่องรอยอิฐประกอบกันเป็นบันไดทางขึ้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ข้าง ถัดเข้ามาพบแนวอิฐวงโค้ง สันนิษฐานว่าเป็นสวนหรือลานอเนกประสงค์ ต่อจากนั้นพบร่องรอยฐานอาคาร ตอม่อขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนพระตำหนัก น่าจะเป็นตำหนัก 2 ชั้น พบเศษกระเบื้องดินเผาที่น่าจะใช้เป็นส่วนของหลังคาคลุมเครื่องไม้ ลวดลายแบบจีน และพบชิ้นส่วนปูนปั้นและเศษปูนฉาบเขียนสีเป็นลวดลายประดับตัวอาคาร ลูกกรงประดับตามระเบียงตัวอาคารศิลปะจีน ด้านข้างพระตำหนักจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำพบร่องรอยแนวอิฐกลุ่มอาคารหลังเล็ก 3 หลัง ประดับลวดลายบัว สันนิษฐานว่าเป็นที่พักของบรรดาข้าราชบริพาร เยื้องจากพระตำหนักไปทางด้านหลังพบเสา 8 เหลี่ยม และใบเสมาคู่วาง 8 ทิศ บ่งบอกเขตพระอารามหลวง เรียกว่าพระอารามน้อย ภายในเคยประดิษฐานพระประธานศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าได้อาราธนาไปประดิษฐาน ณ วัดสองคอนใต้ นานแล้วเพื่อป้องกันการโจรกรรม คณะนักโบราณคดียังขุดพบโบราณวัตถุอื่นๆ อาทิ กระปุกบรรจุดินหอม ประติมากรรมดินเผา (อาจติดหัวบันไดบริเวณพระตำหนัก) เครื่องใช้สมัยสุโขทัย เหรียญกษาปณ์สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ 5 เครื่องปั้นดินเผาลายเจ้าจำปี จากบ้านบางปูน จ.สุพรรณบุรี วัตถุดินเผาทรงกลม สิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะสำริด เครื่องถ้วยชามดินเผาจากแหล่งเตาประเทศจีน อาทิ จานเขียนลายครามใต้เคลือบ กระปุก และตลับต่างๆ อย่างไรก็ดี หัวหน้าคณะขุดค้นคาดว่าโบราณสถานแห่งนี้น่าจะเคยถูกลักลอบขุดหาสมบัติแผ่น ดินไปก่อนหน้านี้แล้ว หรืออาจถูกทำลายจากการทำไร่ข้าวโพด เพราะหลักฐานที่พบถือว่าน้อยมาก แต่เพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ตีความ สุนิสา เผยว่าไม่ห่างจากพระอารามน้อย ได้ขุดค้นพบเตาเผาเพื่อทำเครื่องประกอบในงานสถาปัตยกรรม และยังพบเตาหุงต้มอาหารรูปกระทะใบบัวอยู่ใกล้ริมแม่น้ำ "แถวแก่งคอยมีหินปูนมาก ดินก็สามารถนำมาเป็นอิฐได้เหมือนแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี สมัยก่อนอาจนำมาใช้ในการยาปูนก็ได้ ก่อนทำงานเราได้ทำพิธีบวงสรวง มีโหรจากพระราชวังมาประกอบพิธี ท่านบอกว่าผังของร่องรอยหลักฐานเหล่านี้ตรงกับผังพระราชวังในกรุงเทพฯ" หัวหน้าคณะขุดค้นอธิบายว่าหลักฐานพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาโดยเรือกลไฟพระที่นั่งมาขึ้นที่บึงแก่งชัย ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำป่าสัก มาที่วังแห่งนี้

ในแง่การอนุรักษ์แหล่งโบราณสถานระยะยาว จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดแสดงนิทรรศการถาวรใแหล่ง อาจสร้างเป็นหลังคาคลุม และมีส่วนแสดงเนื้อหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี มีมุมพักผ่อน ร้านค้า-เครื่องดื่ม ร้านหนังสือ และของที่ระลึก ทั้งนี้อาจใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท "การจัดแสดงทางโบราณคดี เราคงยกฐานขึ้นมาให้สูงต่อเป็นอาคารให้เห็น แต่คงไม่สร้างหลังคาแบบสำเร็จรูป ตอนนี้รอแต่ว่าถ้าทางจังหวัดแก้ปัญหาเรื่องที่ดินได้เมื่อไร และมีงบประมาณทำงาน เราก็พร้อมลงมือทำทันที คิดว่า 1 ปีก็น่าจะเสร็จ ตอนนี้ทางเราก็ทำหนังสือขอรับบริจาคที่ดิน 20 ไร่นี้จากเจ้าของแล้ว แต่ยังไม่ได้คำตอบ ถ้าเขาไม่บริจาคให้ก็อาจต้องขอซื้อ" ส่วนของการจัดหางบประมาณนั้น นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับปากกับชาวบ้านแก่งคอยว่าจะผลักดันให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบต่อไป เพราะโบราณสถานวังสีทาถือเป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญในราชวงศ์จักรี และถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ของท้องถิ่นที่แท้จริง

การเปิดเผยร่องรอยของวังเจ้านายวังหน้าแห่งนี้ถือเป็นข้อมูลทางโบราณคดีล่า สุด ที่นักประวัติศาสตร์สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ตีความเหตุการณ์สมัยต้นรัตน โกสินทร์ได้อย่างดี โดยเฉพาะทฤษฎีที่ยังถกเถียงกันไม่แล้วเสร็จว่าในสมัยนั้นเกิดการขัดแย้ง ระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์จริงหรือไม่ หรือเป็นความขัดแย้งระหว่างบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ แม้แต่สาเหตุการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้นก็ยังไม่อาจระบุได้เด็ดขาดว่าทรงประชวรเองหรือเป็นโรคคนทำ แม้จะมีหลักฐานระบุว่ารัชกาลที่ 4 ทรงสำเร็จโทษคณะผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาของลูกขุน ฐานทำเสน่ห์ยาแฝดแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จนประชวรหนัก อย่างไรก็ดี ประเด็น 'ศึกใน' และ 'ศึกนอก' ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญทางการเมืองเสมอมาไม่ว่ายุคสมัยใด อยู่ที่ว่านักประวัติศาสตร์จะเลือกตีความหลักฐานเท่าที่มีอยู่ไปในทางไหน

ล้อมกรอบ - พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี หรือเจ้าฟ้าน้อย พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2351 ณ พระราชวังเดิมในกำแพงวังกรุงธนบุรี ริมคลองบางกอกใหญ่ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 50 และเป็นพระราชกุมารองค์ที่ 27 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนกและพระราชชนนีกับเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชอนุชาต่างพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้เข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชอบในราชการ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อปี พ.ศ.2384 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพใหญ่กองทัพ เรือไปปราบกบฏญวน โดยไปตีเมืองบันทายมาศ(เมืองฮาเตียน) ปฏิบัติหน้าที่ในราชการสงครามนานประมาณ 16 เดือน เมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2394 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 43 พรรษา ดังเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ด้วยทรงตระหนักว่าพระชะตาของพระอนุชาแข็งนัก จำต้องได้ที่พระมหากษัตริย์ด้วย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระปรีชาด้านการทหาร ทรงแปลตำราปืนใหญ่จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เหล่าทหารปืนใหญ่ยกย่องเป็น 'พระบิดาของเหล่าทหารปืนใหญ่' ทั้งทรงเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือ พระองค์ทรงสามารถต่อเรือกลไฟชื่อ 'ยงยศอโยชฌิยา' เป็นเรือกลไฟลำแรกของสยามประเทศ

พระองค์ดำรงราชสมบัติอยู่ 15 ปี แล้วทรงประชวรด้วยโรควัณโรค พระองค์เสด็จฯ ประทับตามถิ่นบ้านลาว อาทิ บ้านสัมประทวน แขวงจังหวัดนครไชยศรี เมืองพนัสนิคม แต่ประทับที่พระตำหนักบ้านสีทาเป็นส่วนใหญ่ พ.ศ.2408 พระอาการประชวรกำเริบต้องเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงประชวรนานราว 5 ปี ครั้นวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2408 เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ รวมพระชนมายุได้ 53 พรรษาเศษ รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพเฉกเช่นพระมหากษัตริย์ทุกประการ
หมายเหตุ: คัดจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน(คุณภาพชีวิต) ฉบับที่ 15 กันยายน 2547

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น